หลายๆคนอาจจะเคยกินข้าวเหนียวในมื้อกลางวัน แล้วพบว่าจะมีความง่วง (drowsiness) มากมายกว่าการกินข้าวเจ้าน่ะครับ ซึ่งก็แน่นอนล่ะว่า เอ!! คงจะมีคนสงสัยว่าตกลงมันเป็นมโนหรือความจริงกันแน่เนี่ย!!
ดังนั้นวันนี้แอดก็จะมาเล่าถึง #เกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถึงเรื่อง #การกินข้าวเหนียวทำให้ง่วงจริงเหรอ!!
ก่อนอื่นเราก็มาดูว่าแล้วข้าวเจ้ากับข้าวเหนียวนี่แตกต่างกันอย่างไรบ้างนะครับ??
ปกติแล้วข้าวเจ้านั้นจะมีองค์ประกอบของอะไมโลส (amylose) ปนอยู่บ้างในอะไมโลเพคติน (amylopectin) น่ะครับ ซึ่งเจ้าตัว amylose นี้จะทำให้ข้าวนั้นหุงขึ้นหม้อ/ แข็ง/ บานขึ้น (นี่แอดกำลังพูดถึงข้าวนะเออ อย่าไปคิดถึงอย่างอื่น 😅) เป็นต้นว่า ข้าวเสาไห้นั้นจะมีความแข็งกว่าข้าวหอมมะลิ อันเนื่องมาจากปริมาณ amylose ที่สูงกว่าน่ะครับ
ส่วนข้าวเหนียวนั้นจะมี amylopectin เกือบจะ 100% เลยทีเดียว จึงทำให้ข้าวเหนียวนั้นเวลาหุงแล้วจะไม่บานและขึ้นหม้อเท่าข้าวเจ้า และมีความนุ่มเหนียวกว่าข้าวเจ้าด้วยน่ะครับ (ถ้าไม่ปล่อยให้ตาก-ลมเล่นๆหลังนึ่งนะครับ)
ซึ่งปกติแล้ว amylose นั้นจะมีโครงสร้างเป็นโซ่ตรงและมีความเป็นระเบียบสูงกว่า ในขณะที่ amylopectin นั้นจะมีโครงสร้างเป็นโซ่กิ่งและมีความเป็นระเบียบน้อยกว่า จึงทำให้ข้าวเจ้านั้นมีอัตราการย่อยต่อน้ำหนักแห้งนั้นช้ากว่าข้าวเหนียวด้วย
นั่นก็หมายความว่า “ค่าความสามารถในการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลของข้าวเหนียวก็จะรวดเร็วกว่าข้าวเจ้า” ไปด้วยที่น้ำหนักแห้งเท่ากัน นั่นก็แปลออกมาเป็นศัพท์วิชาการที่ซับซ้อนขึ้นมาว่า ข้าวเหนียวนั้นจะมีค่า Glycemic index (GI) สูงกว่าด้วย 😅
โดยที่ค่า Glycemic index (GI) นั้นหมายถึง ดรรชนีการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลของอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โดยที่อาหารที่มีค่า GI สูงกว่าก็จะย่อยเป็นน้ำตาลได้เร็วกว่า ทำให้ได้ปริมาณน้ำตาลสูงแต่หมดไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อาหารที่มีค่า GI ต่ำกว่านั้นจะค่อยๆย่อยเป็นน้ำตาลทีละน้อยและหมดช้ากว่า (เน้นว่าที่น้ำหนักแห้งเท่ากันอีกครั้ง)
หลายๆคนก็อาจจะแย้งว่า อ้าว!! ปกติแล้วเวลากินข้าวเหนียวที่มีค่า GI สูงกว่า แต่ทำไมอยู่ท้องกว่าล่ะ!!
คำตอบง่ายๆก็คือว่า เวลาเราทานข้าวเนี่ย เราทานข้าวที่หุงแล้วนะ ไม่ได้ทานข้าวสารนะเออ ซึ่งปกติข้าวเหนียวที่หุงมานั้นจะมีปริมาตรที่เกือบจะเท่าข้าวเหนียวก่อนหุงนะ ในขณะที่ข้าวเจ้าที่หุงมานั้นจะมีปริมาตรเป็น 1.5-2 เท่าของข้าวเจ้าก่อนหุงนะเออ (จนบางทีเค้ามีการเปรียบเทียบน้องชายของท่านชายทั้งหลายว่าของใครเป็นข้าวเหนียว/ของใครเป็นข้าวเจ้า จากขนาดที่พองขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตอนปกติเลยอ่ะครับ 😅)
ดังนั้นการที่กินข้าวเหนียวที่หุงแล้ว ในปริมาตรที่เท่ากับข้าวเจ้าที่หุงแล้ว แสดงว่าเราจะกินข้าวเหนียวเป็นน้ำหนักของข้าวแห้งเป็นเกือบสองเท่าของข้าวเจ้ากันเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเรากินข้าวเหนียวที่หุงแล้วจึงอิ่มทนกว่าข้าวเจ้าในปริมาณที่หุงแล้วเท่าๆกัน 😅
ซึ่งค่า GI ของข้าวแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปด้วย โดยที่ข้าวซ้อมมือ (ประมาณ 55) จะมีค่า GI ต่ำกว่า ข้าวเจ้า (ประมาณ 87) และต่ำกว่าข้าวเหนียว (ประมาณ 98) ตามลำดับน่ะครับ โดยที่ยึดว่า glucose นั้นมีค่า GI เท่ากับ 100 น่ะครับ
โดยที่มีการศึกษาว่าอาหารที่มีค่า GI สูงกว่านั้นจะย่อยสลายกลายเป็นน้ำตาลกลูโคสได้เร็วกว่า ทำให้ตับอ่อนนั้นต้องรีบหลั่งอินซูลิน (insulin) เพื่อทำให้ร่างกายดูดซึมนำไปใช้งานได้รวดเร็วขึ้น และพยายามรักษาระดับกลูโคสในกระแสเลือดให้คงที่
ซึ่งการสร้าง insulin ที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้กรดอะมิโนต่างๆ เช่น valine, leucine และ isoleucine นั้นถูกดูดซึมโดยกล้ามเนื้อได้มากขึ้น แต่ว่าเจ้า tryptophan นั้นกลับไม่ได้ถูกทำให้ดูดซึมเข้าไปกับพรรคพวกด้วย จึงต้องอยู่ในกระแสเลือดในปริมาณคงเดิมน่ะครับ
ส่งผลทำให้เจ้า tryptophan นั้นต้องเคลื่อนตัวไปตามกระแสเลือดที่เข้าไปหล่อเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น และถูกแปลงให้กลายเป็นเซโรโทนิน (serotonin) และกลายสภาพต่อเป็นเมลาโทนิน (melatonin) โดยที่ทั้งสองตัวนี้หากมีระดับสูงขึ้นในสมอง ก็จะทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้นั่นเอง 😅
ดังนั้นการกินข้าวเหนียวจึงส่งผลทำให้เกิดความง่วงมากกว่าการทานข้าวเจ้าอย่างแน่นอน ไม่ได้เป็นเพียงแค่มโนใดๆทั้งสิ้น (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การทานอาหารที่มีค่า Glycemic index สูงกว่าก็จะทำให้เกิดอาการง่วงมากกว่านั่นเอง)
สุดท้ายนี้แอดก็ขอขอบคุณรูปเมนูข้าวเหนียว ไก่ย่าง ลาบ ส้มตำ ที่แสนจะน่าทานจากลิงก์นี้ด้วยนะครับ 🤤🤤
https://pantip.com/topic/32510297
#กินข้าวเหนียวก่อนนอนทำให้หลับสบาย
#ดีต่อใจจัญไรต่อพุง
#ใจทรามยามดึก
#กินวันนี้มีเวลาลดน้ำหนักอีกตั้งเยอะ
อ่านแล้วค่ะแอดเคยเข้ามาอ่านเรื่องอื่นด้วยแต่ไม่เคยเมนต์ค่ะ ✌😍
ถูกใจถูกใจ
ขอบคุณคร้าบ 🙏🏻
ถูกใจถูกใจ
แหม
ข้าวเหนียว กับขนาดน้องชาย สามารถนำมาเปรียบเปรยกันได้ด้วย
แอดนี่นะ..ร้ายนักเชียว😍😁
ถูกใจถูกใจ
ชอบค่ะอ่านง่ายกว่าบนเฟสบุคอีกค่ะ
ถูกใจLiked by 1 person