เคยสังเกตกันมั้ยครับว่าเสื้อยืดของเราทำไมบางทีพอเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าไปเรื่อยๆเนี่ย จู่ๆพอเอามาซักใส่ดันเกิดอาการเป็นรูๆขึ้นมาเฉยเลย ตกลงว่ามันเป็นรูเพราะอะไร โดนแมลงกัดกินรึเปล่า?? หรือเสื้อมันกัดกินตัวเองกันแน่??
วันนี้แอดก็จะมาเล่าถึง #เกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถึงการเป็นรูของเสื้อยืดของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อที่ทำจากผ้าฝ้าย 100% น่ะครับ 😅😅
จริงๆปรากฏการณ์ที่จู่ๆเสื้อเป็นรูนั้นมักจะเกิดจากการที่บริเวณตำแหน่งนั้นของเสื้อยืดนั้นถูกทำลายลงอยู่แล้วในขั้นตอนการฟอกขาวครับ ซึ่งปกติแล้วการฟอกขาวเกือบจะ 100% ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นมักจะใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide : H₂O₂) เป็นสารฟอกขาวน่ะครับ
ปกติแล้วเจ้า H₂O₂ จะสามารถฟอกขาวจากผ้าดิบที่มีสีเหลืองของสารประกอบคาโรตินอยด์ (caroteinoid) ที่มีสีเหลืองให้กลายเป็นสารไม่มีสี โดยการเปลี่ยนหมู่พันธะคู่แบบสลับหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Conjugated double bonds” (-CH=CH-CH=CH-) ที่เป็นหมู่ให้สี (chromophore) ที่ไม่ละลายน้ำของสารประกอบคาโรตินอยด์ ให้กลายเป็นหมู่ diol (-C(OH)-C(OH)-C(OH)-C(OH)-) ที่ไม่มีสีและละลายน้ำหลุดออกไปได้ โดยปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) น่ะครับ
แต่นอกจากนั้นเจ้า H₂O₂ นั้นก็สามารถที่จะแตกตัวออกเป็น “อนุมูลอิสระ” (free radicals) ได้หากว่าโดนไอออนของเหล็ก/ทองแดงที่เจือปนในน้ำมาเป็นตัวเร่ง (catalysts) โดยเฉพาะสนิมเหล็กที่ปนมาเป็นเม็ดเล็กๆที่ตาเปล่ามองไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า Catalytic oxidative fabric degradation ทำให้เกิดรูเล็กๆที่ชาวสิ่งทอเรียกว่า “Pinhole” น่ะครับ
ปรากฏการณ์นี้แทนที่เจ้า H₂O₂ จะทำลายสีเหลืองบนเส้นใยนั้น มันจะไปทำลายเนื้อเส้นใยแทนน่ะครับ ถ้ารุนแรงพอเราจะเห็นเป็นรู pinhole ในขั้นตอนหลังฟอกเลยล่ะ แต่ถ้าไม่รุนแรงพอมันก็ยังคงเป็นผ้าที่ซ่อนความอ่อนแอไว้ รอระเบิดเวลาให้ค่อยเป็นรู pinhole ทีหลังในมือของผู้บริโภคอย่างเราๆนี่ล่ะครับ
ซึ่งการเป็นรู pinhole แบบรอระเบิดเวลานี้ บางทีเราก็จะเรียกว่าเกิดจากการที่ #ผ้ากินตัวเอง น่ะครับ
ซึ่งหลายๆคนก็คงจะนึกในใจว่า อ้าว!! แล้วรูมันไม่ได้เกิดจากมดแมลงมากัดกินผ้าเหรอเนี่ย??
ซึ่งจริงๆแล้วบางทีก็เกิดจากแมลงมากัดกินผ้าก็มีครับ แถมเป็นรูเล็กๆเหมือนกันซะด้วย ซึ่งการจำแนกรูที่เกิดขึ้นนั้น เราจะไม่สามารถจำแนกด้วยตาเปล่าอยู่แล้วล่ะ 😅😅
แต่ในทางสิ่งทอนั้นเราจะมีวิธีทดสอบง่ายๆ โดยที่ผ้าที่เกิดรูจาก pinhole นั้นจะมีการติดสีประจุบวก (cationic dyes) ที่ขอบรูเข้มกว่าปกติ เนื่องจากเซลลูโลสที่ถูกทำลายด้วยสารออกซิไดซ์นั้นจะถูกแปลงจากหมู่ -OH ไปเป็น -COOH ที่สามารถแตกตัวให้เป็นประจุของ carboxylate anion ได้น่ะครับ
โดยการหยดสารละลายสีประจุบวก เช่น การใช้ Gentian violet (น้ำยากวาดปากเด็กสีม่วง) ตรงบริเวณรูผ้า แล้วล้างออกด้วยน้ำร้อน ถ้าพบว่ามีขอบสีน้ำเงินอมม่วงเข้มกว่าปกตินั่นแสดงว่าเป็น pinhole แล้วล่ะ!!
แต่ถ้ารูนั้นไม่มีขอบเข้มกว่าปกตินั่นก็แสดงว่ามีมด/แมลงนั้นแฝงตัวอยู่ในตู้เสื้อผ้าเราแล้วล่ะครับ 😭 ดังนั้นจงหาวิธีการไล่แมลงออกแทนที่จะทำใจยอมรับกรรมจาก pinhole แทนได้เลยอ่ะครับ
สุดท้ายนี้แอดก็ขอขอบคุณรูปเสื้อเป็นรูจากลิงก์นี้ด้วยนะครับ
#รูเพราะแมลงหรือฟอกขาว
#ต้องทดสอบเองเพราะแยกด้วยตาเปล่ามองไม่เห็น